ในปีคศ. 1955 เมื่อโรซา พาร์คส์ ถูกจับเนื่องจากปฏิเสธที่จะสละที่นั่งของตัวเองบนรถเมล์ให้กับชายผิวขาวที่เมืองมอนต์โกเมอรี่ รัฐอลาบามา (เคยเล่าให้ฟังแล้วใน หนึ่งร้อยปี โรซา พาร์คส์ กับการต่อสู้กับชนชั้นในสังคมที่ไม่สิ้นสุด) สามวันหลังจากที่เธอถูกจับ ได้มีการจัดการประท้วงที่เรียกว่า Montgomery Bus Boycott ที่คนผิวดำในเมืองมอนต์โกเมอรีปฏิเสธอย่างสันติที่จะไม่ใช้บริการรถเมล์ประจำเมือง ซึ่งการบอยคอตต์ครั้งนี้ นำโดย อีดี นิกซัน และ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ในขณะนั้น คิง อายุเพียง 26 ปี และเป็นนักเทศประจำโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองดังกล่าว ในช่วงเวลา 385 วันของการบอยคอตต์ที่ไร้ความรุนแรงนั้นนั้น บ้านของคิงถูกวางระเบิด และเขาก็ถูกจับ แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่า การแบ่งแยกที่นั่งของรถเมล์สาธารณะในเมืองมอนต์โกเมอรีขัดกับรัฐธรรมนูญสหรัฐ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของคิง ในการเป็นผู้นำที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองอย่างสันติในสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ว่าคิงจะมีชื่อเสียงด้านการรณรงค์สิทธิพลเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรง แต่เขาและครอบครัวกลับถูกทำร้ายนับครั้งไม่ถ้วน ไม่นับการโดนวางระเบิดบ้าน เขายังเคยถูกแทกที่หน้าอก และคนในครอบครัวก็ถูกลอบทำร้ายหลายครั้ง แต่เขาและครอบครัวก็ไม่เคยที่จะหยุดการทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ในช่วงสิบกว่าปีหลังจากเหตุการณ์บอยคอตต์ที่เมืองมอนต์โกเมอรี เขาเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์กว่าสองแสนครั้ง เขียนหนังสือและบทความมากมาย สำหรับเขาแล้ว การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากความรุนแรงหรือปากกระบอกปืน แต่เป็นการพูดด้วยเหตุด้วยผล เพื่อเปลี่ยนความคิดของคน
แน่นอน การเปลี่ยนความคิด ไม่สามารถทำได้ในปีหรือสองปี
ในปีคศ. 1963 ระหวางการเดินขบวนอย่างสันติที่กรุงวอชิงตัน เพื่อยุติการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนรัฐบาล คิงยืนอยู่เบื้องหน้าสระสะท้อนกลาง National Mall เบื้องหน้าของเขาคืออนุสาวรีย์วอชิงตันที่ตั้งตระง่านอยู่ ด้านหลังเขา รูปปั้นของอับบราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีของสหรัฐ ผู้ประกาศเลิกทาสเมื่อร้อยปีก่อน เฝ้ามองเขาอยู่อย่างเงียบ ๆ ณ ที่นี่ จึงเป็นที่ ๆ เหมาะที่สุดสำหรับการกล่าวสุทรพจน์เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และคิงก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนกว่าสองแสนห้าหมื่นคนที่ชุมนุมกันอยู่รอบ ๆ สระสะท้อน ผิดหวัง เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ว่ากันว่า เป็นสุนทรพจน์ที่สำคัญและทรงพลังที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
ภายหลังสุนทรพจน์ความยาว 17 นาทีนั้น ถูกเรียกว่า “I Have a dream” หรือ ข้าพเจ้ามีความฝัน
ในวันนั้น คิงได้เตรียมบทสุนทรพจน์ของเขาไว้แล้ว แต่มีผู้เข้าร่วมฟังคนหนึ่งตะโกนบอกเขาว่า ‘บอกพวกที่มาฟังเกี่ยวกับความฝัน[ของคุณ]สิ” หลังจากที่เขากล่าวสุนทรพจน์ของเขา คิงจึงพูดขึ้นมาว่า
I say to you today, my friends, so even though we face the difficulties of today and tomorrow, I still have a dream. It is a dream deeply rooted in the American dream.
I have a dream that one day this nation will rise up and live out the true meaning of its creed: ‘We hold these truths to be self-evident: that all men are created equal.’
I have a dream that one day on the red hills of Georgia the sons of former slaves and the sons of former slave owners will be able to sit down together at the table of brotherhood.
I have a dream that one day even the state of Mississippi, a state sweltering with the heat of injustice, sweltering with the heat of oppression, will be transformed into an oasis of freedom and justice.
I have a dream that my four little children will one day live in a nation where they will not be judged by the color of their skin but by the content of their character.
I have a dream today.
I have a dream that one day, down in Alabama, with its vicious racists, with its governor having his lips dripping with the words of interposition and nullification; one day right there in Alabama, little black boys and black girls will be able to join hands with little white boys and white girls as sisters and brothers.
I have a dream today.
ผมจะบอกคุณวันนี้ เพื่อน ๆ ของผม ว่าถึงแม้เราจะพบความยากลำบากในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ ผมจะยังคงมีความฝัน มันเป็นฝันที่ยั่งรากลึกลงไปในความฝันของคนอเมริกัน
ผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง ประเทศนี้จะหยัดยืนและดำรงอยู่ด้วยความหมายที่แท้จริงของหลักการของมันที่ว่า ‘เรายืนหยัดกับความจริงที่ชัดแจ้งในตัวมันเองว่า : มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน’
ผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง บนเรดฮิลของจอร์เจีย ลูกของอดีตทาสและลูกของอดีตนายทาสจะสามารถนั่งอยู่เคียงข้างกันบนโต๊ะแห่งภราดรภาพผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง แม้แต่ในรัฐมิสซิปซิปปี รัฐที่ร้อนระอุไปด้วยความอยุติธรรม ร้อนระอุไปด้วยการกดขี่บีทา จะกลับกลายเป็นโอเอซิสแห่งเสรีภาพและความยุติธรรม
ผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง ลูกเล็กทั้งสี่ของผมจะอาศัยอยู่ในชาติที่พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินด้วยสีผิวของพวกเขา แต่ด้วยชื่อเสียงของสิ่งที่พวกเขากระทำ
วันนี้ผมมีความฝัน
ผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง ที่อลาบามา ที่ ๆ เต็มไปด้วยพวกเหยียดผิวที่ชั่วร้าย และผู้ว่าการรัฐที่มีแต่คำพูดที่กีดกันและไร้ค่าหลุดของมาจากปากของเขา วันหนึ่ง ที่อลาบามานั่นแหละ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงผิวดำตัวเล็ก ๆ จะสามารถคล้องแขนกับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงผิวขาวตัวเล็ก ๆ ดังเช่นเป็นพี่น้องกัน
วันนี้ผมมีความฝัน
(วิดีโอบันทึกการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว ใน Youtube http://www.youtube.com/watch?v=smEqnnklfYs)
สุนทรพจน์นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักหมุดที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองแบบสันติในสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นสุนทรพจน์ที่ประกาศว่า ความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วทั้งในรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ในเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งประเทศ และในความเป็นมนุษย์ที่มาแต่กำเนิด และสุนทรพจน์นี้ยังแผ่วถางเส้นทางสู้การเคลื่อนไหวอย่างสันติ เพราะในสุนทรพจน์นี้ พูดถึงแต่ความฝันและความเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้พูดถึงการต่อสู้ที่ต้องใช้ความรุนแรงเลย
ในปีถัดมา มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ได้รับรางวันโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเขาเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
แต่เขาก็ยังไม่หยุดยั้งที่จะเดินทางตามความฝันของเขา ในปี 1968 เขาเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อผู้ยากจน (Poor People’s Campaign) ที่ต้องการจะชี้ประเด็นของความยากจนอันเนื่องจากความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการขยายประเด็นการรณรงค์จากเรื่องของสีผิวมาเป็นประเด็นที่ครอบคลุมผู้คนมากขึ้น ในการรณรงค์ที่กรุงวอชิงตัน เป็นการรณรงค์แบบดื้อแพ่งที่ไร้ความรุนแรง (Nonviolent civil disobedience) เพื่อผลักดันให้สภาผู้แทนออกกฏหมายที่เรียกว่า Economic bill of rights เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ไม่ว่าจะสีผิวไหน แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนกับการทหาร
ในปลายเดือนมีนาคม ปี 1968 เขาได้เดินทางมาถึงเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เพื่อสนับสนุนการเดินขบวนปกป้องสิทธิของคนงานขนขยะผิวดำ ที่หยุดงานประท้วงมาตั้งแต่กลางเดือนเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่มากขึ้น และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น เช่น การที่คนงานผิวดำจะได้รับค่าแรงเพียงสองชั่วโมงเมื่อสภาพอากาศไม่ดีและต้องหยุดงาน ในขณะที่คนงานผิวขาวจะได้เต็มวัน การเดินทางมาเมนฟิสของเขาครั้งนี้เกือบจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมี่การขู่วางระเบิดเครื่องบินของเขา
สามสี่วันถัดมา คิงได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าการรวมตัวกันที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมมฟิส และเป็นสุนทรพจน์ที่ถูกจดจำมากที่สุดอันหนึ่งของเขา ที่ภายหลังถูกเรียกว่า “I’ve Been to the Mountaintop” หรือ “ผมได้ไปถึงยอดเขามาแล้ว” ซึ่งยอดเขาที่ว่า ก็เป็นการอ้างอิงถึงคำภีร์ไบเบิลที่กล่าวว่า พระเจ้าได้นำโมเสสขึ้นไปยังยอดเขา เพื่อแสดง Promises Land หรือดินแดนพันธสัญญาให้เขาได้เห็นกับตา แต่พระเจ้าไม่อนุญาตให้โมเสสได้ลงไปยังดินแดงแห่งนั้น
สุทรพจน์ดังกล่าว (รับชมรับฟังใน Youtube) ปิดท้ายด้วยข้อความที่ว่า
And then I got to Memphis. And some began to say the threats, or talk about the threats that were out. What would happen to me from some of our sick white brothers? … Well, I don’t know what will happen now. We’ve got some difficult days ahead. But it doesn’t really matter with me now. Because I’ve been to the mountaintop. I don’t mind. Like anybody, I would like to live – a long life; longevity has its place. But I’m not concerned about that now. I just want to do God’s will. And He’s allowed me to go up to the mountain. And I’ve looked over. And I’ve seen the Promised Land. I may not get there with you. But I want you to know tonight, that we, as a people, will get to the Promised Land. So I’m happy, tonight. I’m not worried about anything. I’m not fearing any man. Mine eyes have seen the glory of the coming of the Lord.
และหลังจากนั้น ผมก็มาถึงเมมฟิส และมีบางคนเริ่มพุดขู่ หรือพูดถึงคำขู่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อะไรจะเกิดกับผมจากเหล่าพี่น้องคนขาวที่น่ารังเกียจบางคน? ผมก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในขณะนี้นะ พวกเรามีวันที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้า แต่มันไม่สำคัญสำหรับผมเลย เพราะผมได้ไปถึงยอดเขามาแล้ว ผมจึงไม่ใส่ใจอีกแล้ว ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ผมก็อยากมีชีวิตที่ยืนยาว การมีอายุยืนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ตอนนี้ผมไม่กังวลถึงเรื่องเหล่านั้น เพราะผมจะทำในสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ และพระองค์ได้อนุญาตให้ผมขึ้นไปยังยอดเขา และผมได้มองลงไปยัง และผมได้เห็นดินแดนพันธสัญญา ผมอาจจะไม่ได้ไปที่นั่นกับพวกคุณ แต่คืนนี้ผมจะบอกพวกคุณ ว่าพวกเรา ในฐานะประชาชน จะไปถึงดินแดนพันธสัญญา และผมมีความสุข คืนนี้ ผมจะไม่กังวลถึงสิ่งใด ผมไม่กลัวผู้ใด ดวงตาของผมได้เห็นสิ่งประเสริฐแห่งการมาถึงของพระองค์
(วิดีโอบันทึกการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว ใน Youtube http://www.youtube.com/watch?v=Cfi9TrnpfsU)
เช้าวันถัดมา คิงถูกลอบยิงตายหน้าห้องพักในโรงแรมของเขา
เขาไม่ได้ไปยังดินแดนพันธสัญญาดังที่เขาได้พูดไว้ และเส้นทางที่พวกเรายังต้องเดิน ก็ยังอีกยาวไกล
ในหนังสือเรื่อง ชี้ค ของคุณ ประภัสสร เสวิกุล ที่เล่าถึงการเดินทางของ ดาวีซ บิน ฮาบาซ บุตรชายของ ชี้คฮาบาซ ผู้นำของเบดูินเผ่าหนึ่ง ที่พยายามรวบรวมเบดูอินที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทะเลทรายรวมตัวกัน เพื่อที่จะไม่ต้องเร่ร่อนและถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่เมื่อพ่อของเขาถูกลอบสังหาร ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องสานต่อ และเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความซับซ้อนและพร่ามัวเกินกว่าที่จะมองแค่สีขาวหรือสีดำ แต่ทุกคนต่างมีความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เหมือนดังที่สาธุคุณเบอร์นาร์ต โฮล์ม ผู้ที่ดูแลและส่งเขาไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ได้สังสอนเขาไว้
‘ทำไมท่านถึงทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงไป ทำไมท่านถึงไม่ปล่อยให้ผมกลับไปใช้ชีวิตอิสระในทะเลทรายอย่างเดิม’
ดาวิชนึกถึงคำถามของตัวเองเหมือนหลายปีก่อน
‘ลูกเอ๋ย… เราทุกคนล้วนถือกำเนิดมาจากดินจากทราย แต่บางคนเป็นเพียงเม็ดทรายในทะเลทราย ในขณะที่บางคนเป็นทรายที่ถูกหล่อหลอมให้เป็นเครื่องแก้วเจียระไน’
คำตอบของสาธุคุณเบอร์นาร์ด โฮล์ม แว่วมาจากความทรงจำ
‘มีประโยชน์อะไรสำหรับทรายที่ถูกหล่อหลอมเล่าครับ’
‘ประโยชน์อย่างยิ่งของมันก็คือ เมื่อคนรู้ค่าและที่มาของแก้วเจียระไนอย่างถ่องแท้ เขาก็จะรู้จักรักทรายเม็ดอื่น ๆ ในทะเลทราย’
สิ่งแรกที่เราควรจะเรียนรู้ในฐานะเม็ดทรายหนึ่ง ก็คือการที่จะรักเม็ดทรายอื่น ๆ ในทะเลทรายนี้
หมายเหตุ
ภาพประกอบทั้งหมดจากวิกิพีเดีย ยกเว้นภาพปกหนังสือชี้ค
คำแปลภาษาไทยโดยผู้เขียนบทความ
3 Comments
[…] King ในที่นี้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะเป็นชื่อคน หมายถึง มาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของเขา เขาได้กล่าวว่าพระเจ้าได้ในเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา และชี้ให้เขาดูดินแดนแห่งพันธสัญญา ↩ […]
[…] King ในที่นี้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะเป็นชื่อคน หมายถึง มาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของเขา เขาได้กล่าวว่าพระเจ้าได้ในเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา และชี้ให้เขาดูดินแดนแห่งพันธสัญญา ↩ […]
[…] นิยายของคุณประภัสสรที่ชอบมากที่สุดคือ ชี้ค เคยเขียนรีวิวสั้น ๆ ไว้ที่นี่ […]