เขียนเรื่องของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เสร็จ ทำให้นึกถึงสุนทรพจน์ของโอบามาหลังจากที่แพ้การหยั่งเสียงให้กับนางฮิลลาลี คลินตันที่นิวแฮมเชียร์ ระหว่างการชิงชัยเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครตเพื่อการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา (ดูสุนทรพจน์ฉบับเต็มที่ New York Times) ซึ่ง will.i.am นักร้องของวง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโอบามาอยู่แล้ว ก็เอาเนื้อความส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์นี้มาแต่งเป็นเพลง แล้วเชื่อเชิญเหล่าคนดังคนอื่น ๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนโอบามา มาช่วยกันร้อง โดยในส่วนแรกของเนื้อเพลง ซึ่งก็มาเอามาจากสุนทรพจน์ช่วงท้าย ๆ มีการแฝงความหมายทางประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมาก จึงขอเอามาเล่าให้ฟังครับ
ฟังเพลงประกอบ แล้วอ่านเนื้อตามไปนะครับ เอาเมาส์ไปชี้ที่ตัวเลข จะแสดงข้อความเป็นป๊อบอัพ และถ้าคลิกที่ตัวเลข จะไปที่ข้อความนั้นซึ่งจะมีลิงค์ที่เกี่ยวข้องอยู่ครับ
It was a creed written into the founding documents ((Founding documents ในที่นี้ก็คือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งก็มีเอกสารหลาย ๆ ฉบับ เช่น คำประกาศอิสรภาพ และ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ))
That declared the destiny of a nation (( ในคำประกาศอิสรภาพ มีการกล่าวถึงว่าสิบสามอาณานิคมจะไม่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ แต่จะรวมกันเป็นประเทศใหม่ ซึ่งในขณะนั้น สิบสามอาณานิคมกำลังทำสงครามปฏิวัติอเมริกันกับอังกฤษอยู่ )) , yes we can
It was whispered by slaves and abolitionists (( เป็นการอ้างอิงถึงการเลิกทาส และสงครามกลางเมือง ))
As they blazed a trail toward freedom (( น่าจะหมายถึงการที่ทาสที่อยู่รัฐทางใต้ ต้องเดินทางฝ่าพายุหิมะไปยังรัฐทางเหนือระหว่างสงครามกลางเมือง เพื่อให้ได้อิสรภาพ )), yes we can
It was sung by immigrants as they struck out ((ประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดรับผู้อพยพจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่าสหรัฐเป็นเบ้าหลอมของหลายวัฒนธรรม (A melting pot of cultures) ))
From distant shores and pioneers who pushed westward ((หมายถึงเหล่านักเดินทางจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอาณานิคมดั้งเดิม ได้เดินทางไปยังฝั่งตะวันตกเพื่อขยายดินแดนออกไป เช่น The Great Migration of 1843 ที่ผ่านเส้นทางที่เรียกว่า Oregon Trail ))
Against an unforgiving wilderness ((ในขณะนั้น ดินแดนภาคกลาง และฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ยังไม่ถูกบุกเบิก มีแต่เพียงคนพื้นถิ่น (อินเดียนแดง) อาศัยอยู่ )), yes we can
It was the call of workers who organized ((การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นยุคศตวรรษที่ยี่สิบ ไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นกำลังสำคัญในการพลักดันเรื่องสิทธิพลเมือง เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวดำ ))
Women who reached for the ballots ((หมายถึงการที่ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เหมือนผู้ชาย ซึ่งในสหรัฐอเมริกา แต่ดั้งเดิมผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนกระทั้งในปี 1920 จึงมีการประกาศมาตราที่สิบเก้าแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐ (Nineteenth Amendment to the United States Constitution) ที่รับรองว่าพลเมืองทุกคนของสหรัฐมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าเป็นเพศใด))
A President who chose the moon as our new frontier ((หมายถึงประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี ที่ประกาศเมื่อปี 1962 ว่าสหรัฐจะส่งคนไปเดินบนดวงจันทร์ภายในสิบปี ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์นี้ เพราะในอีกหนึ่งปีต่อมา เขาก็ถูกลอบสังหาร))
And a King who took us to the mountaintop ((King ในที่นี้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะเป็นชื่อคน หมายถึง มาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของเขา เขาได้กล่าวว่าพระเจ้าได้ในเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา และชี้ให้เขาดูดินแดนแห่งพันธสัญญา))
And pointed the way to the Promised Land ((Promised Land หรือดินแดนแห่งพันธสัญญานี้เป็นการอ้างอิงถึงคำภีร์ไบเบิ้ลที่พระเจ้าสัญญากับชาวยิวว่าจะยกดินแดนที่เป็นอิสราเอลและปาเลสไตน์ในปัจจุบันให้ ถ้าชาวยิวยึดมั่นในพระองค์ ซึ่งในสุนทรพจน์ของคิง เขาอ้างอิงถึงดินแดนดังกล่าว เป็นเหมือนจุดมุ่งหมายที่ต้องเดินทางไป ))
Yes we can to justice and equality (( อ้างอิงถึง Bill of Right หรือสิบมาตราแรกในรัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสหรัฐ ที่รับประกันสิทธิ์อันเท่าเทียมกัน และการได้รับความยุติธรรม ))
Yes we can to opportunity and prosperity (( น่าจะหมายถึงประโยคนี้ Life, Liberty and the pursuit of Happiness ในคำประกาศอิสรภาพ ))
Yes we can heal this nation
Yes we can repair this world
Yes we can
เนื้อเพลงยังมีต่ออีก แต่ผมตัดมาเฉพาะที่ท้าวความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ครับ ใครสนใจดูสุนทรพจน์แบบเต็ม ๆ ดูได้ที่นี่ครับ
คิดอยู่นานว่าจะเอาหนังสือเรื่องไหนมาประกอบบทความนี้ดี จะไม่เอามาเลย ก็จะผิดหลักการของเว็บไปหน่อย เลยไปเลือกหนังสือมาเล่มหนึ่งจากชั้นคือ ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว ที่เล่าเรื่องราวการพัฒนาของสังคมมนุษย์ผ่านเครื่องดื่มหกชนิดคือ เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และ โคลา ซึ่งสำหรับชาแล้ว มีส่วนเกี่ยวพันที่สำคัญกับการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐ กล่าวคือ ในขณะนั้น อาณานิคมทั้งสิบสามแห่งของอังกฤษบนแผ่นดินสหรัฐนั้น มีความต้องการบริโภคใบชาสูงมาก เพราะแท้ที่จริงแล้ว คนเหล่านั้นก็คือคนอังกฤษที่ชอบดื่มชานั่นเอง แต่รัฐบาลอังกฤษกลับใช้บริษัทอินเดียตะวันออกในการผูกขาดการนำใบชาเข้าจากอินเดีย อาณานิคมอีกแห่ง มายังอาณานิคมในสหรัฐ ด้วยภาษีที่สูงมาก ทำให้ราคาใบชาในอาณานิคมในสหรัฐมีราคาที่สูง ทำให้เกิดการลักลอบนำใบชาเถื่อนเข้ามายังดินแดนดังกล่าวอย่างแพร่หลาย
ในที่สุด บริษัทอินเดียตะวันออก ก็กดดันให้รัฐบาลอังกฤษออกกฏหมายชา (Tea Act ปี 1773) เพื่อให้บริษัทสามารถนำชาเข้ามยังอาณานิคมสหรัฐได้โดยตรง โดยมีอัตราภาษีที่ต่ำ ซึ่งทำให้ทำราคาแข่งกับชาเถื่อนทั้งหลายได้ แต่ชาวอาณานิคมกลับไม่พอใจที่รัฐบาลยอมให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกทำการผูกขาดการค้า พวกเขาจึงต่อต้านไม่ให้มีการขนใบชาเหล่านั้นขึ้นมายังท่าจนถึงขั้นแต่งตัวเป็นอินเดียนแดง แอบขึ้นเรือของบริษัทฯ ที่จอดเทียบท่าที่เมืองบอสตัน แล้วทำการเทชาทิ้งทะเล ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) ซึ่งรัฐบาลก็ตอบโต้โดยการ สั่งปิดท่าเรือบอสตันในปี 1774 ซึ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ชาวอาณานิคมในสหรัฐ และจึงปะทุออกมาเป็นสงครามปฏิวัติอเมริกาในปี 1775 นั่นเอง