ผมเคยมีโอกาสได้ดูภาพยนต์เรื่องหนึ่งชื่อว่า Rabbit Proof Fence ถ้าแปลเป็นไทยก็คงเป็น รั้วกันกระต่าย ที่มาของรั้วนี้ก็คือ ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่เป็นเกาะแยกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีระบบนิเวศที่ต่างจากที่อื่นมาก และมีสัตว์และพืชพื้นถิ่นของตัวเอง เช่น หมีโคอาลา จิงโจ้ และ ยูคาลิปตัส เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้สิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นในออสเตรเลียมีความเสี่ยงต่อการถุกรุกรานโดยสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Invasive Species) ที่ถูกนำเข้ามา เพราะสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเหล่านี้จะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติที่จะคอยควบคุมจำนวน ตัวอย่างเช่น คางคกอ้อย (Cane Toad) ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อสู้กับเต่าทองที่กัดกินต้นอ้อย แต่คางคกเหล่านี้ ก็กินพืชอื่นไปด้วย และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่มดคันไฟบางสายพันธุ์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในแผ่นดินใหญ่ แต่ไม่มีตามธรรมชาติในออสเตรเลีย ซึ่งมดเหล่านี้ ถูกนำไปกับเรือที่ล่องมาจากยุโรปและเอเชีย และก็ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในออสเตรเลียและก่อปัญหามากมาย สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ก่อปัญหาในออสเตรเลีย ยังรวมไปถึงกระต่าย สัตว์ที่ดูเหมือนจะน่ารัก แต่ด้วยความสามารถในการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรกระต่ายแพร่ขยายในออสเตรเลีย และส่งผลถึงการเกษตรในประเทศ เพราะกระต่ายเหล่านั้นบุกเข้าไปกินพืชผลทางการเกษตรนั่นเอง รัฐทางฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งยังไม่ถูกรุกรานโดนกระต่ายมากนัก จึงได้สร้างรั้วกันกระต่ายที่ยาวตั้งแต่ชายฝั่งด้านเหนือลงมายังชายฝั่งด้านใต้ แยกประเทศออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งทางตะวันออกที่มีกระต่ายอยู่มาก และฝั่งตะวันตกที่มีกระต่ายอยู่น้อย โดยรั้วนี้ ก็มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Rabbit Proof Fence และรั้วนี้ นอกจากจะกั้นกระต่ายแล้ว ในหนังเรื่องนี้ ยังเป็นสัญญะที่แสดงถึงการแบ่งแยกคนต่างชนชั้นออกจากกันอีกด้วย
แน่นอนว่าภาพยนต์เรื่องดังกล่าวไม่ได้เล่าถึงเรื่องของกระต่ายในออสเตรเลีย แต่เป็นเรื่องของชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย (Indigeneous Australian) หรือที่มักเรียกกันว่า ชาวอบอริจิน ซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียและเกาะข้างเคียงก่อนที่ชาวยุโรปหรือคนขาวจะเดินทางโดยเรือมาถึงออสเตรเลียในปี คศ. 1788 โดยชนพื้นเมืองของออสเตรเลียเหล่านี้อพยพมายังพื้นที่แถบนี้เมื่อ 70,000 ปีก่อน และอยู่กระจัดกระจายตามเกาะ และ ชายฝั่งของทวีปออสเตรเลีย ประมาณกันว่า ก่อนการมาถึงของชาวยุโรป มีชนพื้นเมืองอยู่ราว ๆ ห้าแสนถึงหนึ่งล้านคน เมื่อชาวยุโรปมาถึงในปี 1788 ก็เช่นเดียวกับการมาถึงของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอื่น ๆ ชาวยุโรปเหล่านี้ นำเอาโรคที่ไม่เคยปรากฏในทวีปออสเตรเลียมาก่อน เช่น โรคหัด หรือ โรคฝีดาษ มาด้วย เนื่องจากโรคเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในทวีปออสเตรเลีย ชนพื้นเมืองจึงไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้ ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง และชนพื้นเมืองต่างล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ลักษณะนี้ เกิดขึ้นกับอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาเหนือเช่นกัน ประมาณกันว่า ในบางเผ่าของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย มีคนเสียชีวิตถึงเก้าในสิบคนจากฝีดาษ และทำให้ชนพื้นเมืองในออสเตรเลียลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจะเหลือไม่ถึงหนึ่งแสนคนในอีกหนึ่งร้อยปีถัดมา แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องร้ายเพียงเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นกับพวกเขา กับการมาถึงของเรือคนขาว
ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบ รัฐบาลสหพันธรัฐ รัฐบาลในรัฐต่าง ๆ และองค์การทางศาสนาหลายแห่งในออสเตรเลียได้ทำการนำตัวเด็กที่เป็นชนพื้นเมืองมาดูแลเนื่องจากกลัวว่าชนพื้นเมืองจะสาบสูญไปเนื่องจากโรคระบาด รวมถึงความเชื่อที่ว่า ชนพื้นเมืองถึงแม้จะเป็นคนเหมือนกับคนขาว แต่มีลักษณะที่ด้อยกว่า เช่น สีผิว โครงสร้างร่างกาย หรือวิถีการดำรงชีวิต ดังนั้น ถ้านำมาอยู่ร่วมกับคนผิวขาว ซึ่งมีลักษณะที่เด่นกว่า ก็จะสามารถพัฒนาให้ชนพื้นเมืองมีลักษณะที่ดีขึ้นได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่หวังดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ทำ คือใช้กฏหมายไปบังคับให้พ่อแม่ชนพื้นเมืองต้องยกลูกให้กับรัฐบาลไปดูแล โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกครึ่งชนพื้นเมืองและคนขาว ซึ่งเชื่อว่ามีเลือดคนขาวแล้วครึ่งหนึ่ง ภายใต้กฏหมาย”ปกป้องชนพื้นเมือง”นี้ เชื่อกันว่ามีเด็กราว ๆ 20,000 ถึง 25,000 คนที่ถูกนำไปดูแลในช่วงปี 1909 ถึง 1969 ทำให้มีการเรียกชื่อชนพื้นเมืองของออสเตรเลียที่เกิดในช่วงนี้ว่า Stolen Generations หรือคนรุ่นที่ถูกขโมย ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยังมีการถกเถียงกันอยู่ถึงทุกวันนี้ ถึงสาเหตุ จำนวน และผลกระทบที่มีต่อชนพื้นเมือง นักวิชาการบางคนกล่าวว่า นี่ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) เพราะเป็นความตั้งใจที่จะทำให้เผ่าพันธุ์ของคนพื้นเมืองออสเตรเลียหายไป ถึงแม้ว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะปฏิเสธกับข้อกล่าวหานี้ อย่างไรก็ตาม ในปีคศ. 2008 รัฐบาลของสหพันธรัฐออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ก็ได้ออกมาขอโทษต่อชนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการเรียกร้องจากชนพื้นเมืองมาหลายปี
ภาพยนต์เรื่อง Rabbit Proof Fence เล่าเรื่องชีวิตจริงของเด็กผู้หญิงสามคนคือ มอลลี อายุสิบสี่ปี และเดซี อายุแปดปี ซึ่งเป็นพี่น้องกัน และ เกรซี อายุสิบปี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง พวกเธอได้ถูกนำตัวมาจากบ้านที่เมืองจิกาลอง (Jigalong) ทางตอนเหนือของประเทศ ใกล้กับรั้วกันกระต่าย เพื่อนำตัวไปอยู่ชุมชนชาวพื้นเมืองที่แม่น้ำมัวร์ (Moore River Native Settlement) ทางตอนใต้ ใกล้กับเมืองเพิร์ธ (Perth) ที่ห่างออกไปกว่า 2,400 กิโลเมตร ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 เนื่องด้วยว่าพวกเธอเป็นลูกครึ่งคนพื้นเมืองและคนผิวขาว ซึ่งไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ จึงควรจะถูกนำไปดูแลโดยคนผิวขาว เพื่อที่ว่า เมื่อพวกเธอเติบโตขึ้น จะได้ทำงานรับใช้คนผิวขาวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในสมัยนั้น เชื่อกันว่าการทำงานเป็นคนรับใช้คนผิวขาว ย่อมดีกว่าการอยู่ตามมีตามเกิดตามแบบชนพื้นเมือง
ยิ่งถ้าพวกเธอได้แต่งงานกับคนผิวขาว เลือดของชนพื้นเมืองที่อยู่ในตัวเธอก็จะลดน้อยลง จนหายไปในที่สุด
หลังจากที่ถูกนำตัวมายังชุมชนชาวพื้นเมืองดังกล่าว สามสาวก็ตัดสินใจที่จะหนี และเดินทางกลับบ้านของพวกเธอ พวกเธอวางแผนการเดินทางโดยอาศัยการเดินทางไปตามแม่น้ำมัวร์ไปจนถึงรั้วกันกระต่ายทางเหนือ แล้วก็เดินตามรั้วกั้นกระต่ายขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะกลับไปที่เมืองจิกาลองได้ ทั้งสามคนเดินทางไปตามเส้นทางดังกล่าว โดยพยายามหนีจากคนขาวที่ได้รับมอบหมายให้ตามตัวเธอ ซึ่งพวกเธอก็สามารถหลบหนีออกมาได้เรื่อย ๆ ในที่สุด เกรซีก็ได้แยกตัวออกไปตามหาแม่ของเธอ และสุดท้ายก็โดนจับตัวกลับไปได้ ส่วนสองพี่น้องก็เดินทางต่อจนในที่สุดก็สามารถกลับไปยังบ้านของพวกเธอที่จิกาลองได้ และได้หนีออกไปอยู่ในทะเลทรายกับแม่และยายของพวกเธอ
เรื่องก็ดูเหมือนจะจบลงด้วยดีสำหรับสองพี่น้อง แต่ในท้ายของภาพยนต์ดังกล่าว มีบทสัมภาษณ์มอลลี และ เดซี สองพี่น้อง มอลลีเล่าว่า เกรซีตายโดยที่ไม่เคยได้กลับมายังจิกาลองอีก ส่วนมอลลีนั้น ถูกนำตัวกลับมาที่ชุมชนชาวพื้นเมืองดังกล่าวอีก พร้อมกับลูกสาวสองคนของเธอ และเธอก็ได้หนีอีกครั้งพร้อมกับลูกสาวคนหนึ่งของเธอ ทั้งสองก็สามารถกลับมายังจิกาลองได้โดยอาศัยเส้นทางเดิม แต่เมื่อลูกสาวของเธออายุได้สามขวบ เธอก็ถูกนำไปยังชุมชนชาวพื้นเมืองดังกล่าวอีกครั้ง
และมอลลีไม่เคยได้เห็นลูกสาวทั้งสองของเธออีกเลย
ในหนังสือเรื่อง Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษ ชนชาติเดียวกับคนขาวในเรือลำแรกที่ล่องไปถึงออสเตรเลีย ได้เล่าถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์แห่งหนึ่ง ที่เหล่าสัตว์ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากมนุษย์ ซึ่งสัตว์เหล่านั้น นำโดยหมู ที่เชื่อว่าตัวเองฉลาดที่สุดในหมู่สัตว์ทั้งหลาย ได้ทำการขับไล่มนุษย์ออกไปและตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้ดูแลฟาร์มแห่งนั้น พร้อมได้ตั้งหลักการเจ็ดประการของเหล่าสัตว์ขึ้นมา เช่น สองขาคือศัตรู สี่ขาหรือมีปีกคือมิตร หรือสัตว์ต้องไม่นอนบนเตียง ซึ่งหลักการเหล่านั้น ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านมนุษย์นั่นเอง ซึ่งในระยะแรกเหล่าสัตว์ก็ร่วมแรงร่วมใจกันดี แต่เมื่ออยู่ ๆ กันไป เหล่าหมูก็กดขี่สัตว์อื่น และอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ พร้อมกับแอบเปลี่ยนหลักการเจ็ดประการไปทีละนิด เช่น จาก สัตว์ต้องไม่นอนบนเตียง ก็กลายเป็น สัตว์ต้องไม่นอนบนเตียงที่มีผ้าปูเตียงแทน เพื่อพวกหมูจะได้นอนบนเตียงเหมือนคนได้ และนอกจากเปลี่ยนหลักการแล้ว พวกหมูยังแอบคบคิดกับคน ศัตรูเก่า เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน และเริ่มทำตัวเหมือนคนมากขึ้น เช่น เดินสองขาหรือดื่มเหล้า ในท้ายเรื่อง พวกสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็ตั้งข้อสังเกตุว่า ไม่สามารถแยกหมูออกจากคนได้
เมื่อออร์เวลล์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ของเขา มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า เขาต้องการเล่าเรื่องของการเมืองโซเวียต ในยุคสมัยหลังพระเจ้าซาร์ บางคนก็บอกว่านี่มันการเมืองของฝรั่งเศสหลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินถูกตัดหัวโดยกิโยตินชัด ๆ อีกหลายคนก็บอกว่า เหมือนการเมืองอังกฤษในยุคของคร์อมเวลล์ นั่นคือในงานเขียนเรื่องนี้ของออร์เวลล์ได้เล่าถึงพื้นฐานการเมืองของสังคมมนุษย์ ที่มีตัวละครต่าง ๆ เล่นบทซ้ำ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของประเทศไหน แล้วใช้สัตว์ต่าง ๆ แทนตัวละครเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะหยิบยกการเมืองในประเทศไหนขึ้นมาดู ก็จะหาช่วงที่มีลักษณะเหมือนฟาร์มสัตว์ในนิยายเรื่องนี้ได้เสมอ
นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี 1945 ซึ่งตามกฏหมายไทยและสหรัฐ ถือว่าหมดอายุคุ้มครองของลิขสิทธิ์แล้ว จึงสามารถหาได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ (เช่นที่ Gutenberg Australia) หรือที่อเมซอน (Animal Farm) สำหรับฉบับแปลไทยนั้น เท่าที่ทราบ มีอย่างน้อยหกสำนวนคือ
- ฟาร์มเดียรัจฉาน แปลโดย ม.ล.นิภา ภานุมาศ น่าจะเป็นฉบับแรกที่มีการแปลเป็นภาษาไทย
- การเมืองของสัตว์ แปลโดย วิเชียร อติชาตการ ฉบับนี้แปลมานานมากแล้วและมีการพิมพ์หลายครั้งหลายสำนักพิมพ์
- แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย ศุภรางค์ เผ่าพันเลิด
- ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร
- รัฐสัตว์ แปลโดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล
- แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฎของสรรพสัตว์ แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์
ซึ่งฉบับหลังน่าจะยังหาได้อยู่นะครับ ส่วนฉบับอื่น ๆ น่าจะไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำแล้ว แต่น่าจะยังหาเป็นหนังสือมือสองได้อยู่ครับ
ในหลักการเจ็ดข้อที่เหล่าสัตว์ร่วมกันร่างขึ้นมา ข้อสุดท้ายคือ สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน (All animals are equal) แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกหมูก็แก้หลักการข้อนี้เป็น สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน แต่สัตว์บางตัวเสมอภาคกันมากกว่าตัวอื่น (All animals are equal, but some animals are more equal than others)
นั่นคือแม้แต่ความเสมอภาคกัน ก็ไม่ยอมให้เท่ากัน
หมายเหตุ รูปภาพทั้งหมดจาก Wikipedia กดดูที่รูปเพื่อดูที่มาของรูปครับ
2 Comments
ผู้กำกับ Rabbit Proof Fence นั้นเป็นอาจารย์ของผมตอนผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยครับ … เป็นคนฉลาดล้ำลึกมากเลยครับ
ส่วน Animal Farm นั้นก็เป็นหนังสือในดวงใจเช่นเดียวกันครับ
Beasts of England, Beasts of Ireland,
Beasts of every land and clime,
Hearken to my joyful tidings
Of the Golden future time.
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
เรียบเรียงได้อ่านสนุกมากครับ ขอบคุณที่นำมาให้อ่าน 😉