223 ปี การทลายป้อมบาสตีย์ 150 ปี Les Misérables

เขียนโดย: pruet, กรกฎาคม 14th, 2012

ในหัวข้อ: บทความ

แทก: , , ,

3 ความเห็น



ท่านสามารถนำบทความใน WeRead ไปเผยแพร่ เผยแพร่ ดัดแปลง ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องทำลิงค์กลับมาที่บทความต้นฉบับเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมที่คำประกาศสิทธิ์


วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา โดยในวันนี้เมื่อปี คศ. 1776 ได้มีการประกาศอิสรภาพ  (Declaration of Independence) ไม่ขึ้นต่อกับกษัตริย์อังกฤษ หลังจากทำสงครามปฏิวัติอเมริกา (Revolution War) กับจักวรรดิ์อังกฤษมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งในสงครามนี้ มหามิตรของสหรัฐ ก็คือจักวรรดิ์ฝรั่งเศส ที่เป็นศัตรูกับอังกฤษมายาวนาน แต่ในขณะนั้นใครจะรู้ว่าการให้ความช่วยเหลือสหรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ จะนำไปสู่การล่มสลายของจักวรรดิ์ฝรั่งเศสเองในอีกสิบกว่าปีถัดมา

ในสงครามปฏิวัติอเมริกา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ส่งกองทหารมาช่วยรบที่อเมริกา เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ในสมัยพระบิดาของพระองค์ พระเจ้าจอร์จของอังกฤษได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากอณานิคมในอเมริกาเหนือจนหมด พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงต้องการแก้แค้นอังกฤษ และสร้างอำนาจในอเมริกาเหนืออีกครั้ง แต่ในการร่วมสงครามครั้งนั้น ทำให้ท้องพระคลังของฝรั่งเศสว่างเปล่า จนต้องไปกู้ยืมเงินมาถึง สองพันล้านลีฟว์ ซึ่งหนทางที่จะได้จ่ายหนี้นี้ได้ ก็คือการเก็บภาษีกับชาวนาและชนชั้นล่างในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้น ฝรั่งเศสก็ประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และยังมีรายจ่ายมหาศาลจากการสร้างพระราชวังแวร์ซายที่นอกกรุงปารีสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งด้วยเหตุผลเหล่านี้ และเหตุผลอื่น ๆ ทำให้ชนชั้นล่างของฝรั่งเศสมีความไม่พอใจในกษัตริย์และชนชั้นสูง ซึ่งก็คือนักบวช และ ขุนนาง หรือเรียกว่า The First Estate และ The Second Estate เป็นอย่างมาก เมื่อความไม่พอใจและความโกรธแค้นก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 The Third Estates ซึ่งก็คือตัวแทนของชนชั้นล่าง ได้ก่อตั้ง National Assembly ขึ้นมา เพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประเทศขึ้นมาใหม่

ถึงแม้ว่าจะถูกขัดขวางจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยการประกาศปิดซ่อม Salle des États อันเป็นที่ประชุม แต่การประชุมก็ได้ย้ายไปยังสนามเทนนิสในร่มที่อยู่ใกล้ ๆ และกลายมาเป็นชื่อของ Tennis Court Oath ในวันที่ 20 มิถุนายน ที่ประกาศว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับฝรั่งเศส และในวันที่ 9 กรกฏาคม ปีเดียวกัน ก็ได้เกิด National Constituent Assembly หรือสถาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติขึ้นมา ในวันที่ 11 กรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ไล่ Jacques Necker รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกตามคำแนะนำของพระนางมารีอังตัวเน็ต และ คณะองคมนตรี เนื่องจาก Necker ได้ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง แต่ Necker ในขณะนั้นได้รับการยอมรับจากชนชั้นล่าง ซึ่งการที่เขาถูกไล่ออก ถูกมองจากชนชั้นล่างว่าเป็นการต่อต้าน National Constituent Assembly ของราชวงศ์ ในขณะเดียวกัน การนำเอาทหารจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารรับข้าง เข้ามายังกรุงปารีส ก็ถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะยกเลิก  National Constituent Assembly โดยใช้กำลัง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ นำไปสู่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วกรุงปารีส

 

ภาพการทลายป้อมบาสตีย์

 

ในวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้ประท้วงก็บุกโจมตีป้อมบาสตีย์ ซึ่งเป็นที่เก็บอาวุธ เป็นคุก และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชวงศ์ที่ตั้งอยู่กลางกรุงปารีสอีกด้วย หลังจากการต่อสู้ผ่านไปหลายชั่วโมง ป้อมบาสตีย์ก็แตกในตอนบ่าย ผู้ประท้วงยังได้สังหาร Jacques de Flesselles นายกเทศมนตรีกรุงปารีสอีกด้วย อีกสามวันถัดมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็เดินทางกลับเข้ากรุงปารีสเพื่อลงนามยอมรับโครงสร้างรัฐบาลใหม่ ที่เรียกว่า Commune (Common ในภาษาอังกฤษ) แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่สิ้นสุด มีความพยายามที่จะก่อการปฏิบัติซ้อนปฏิวัติ รวมถึงความรุนแรงอื่น ๆ ในเมืองอื่น ๆ เริ่มมีการก่อตั้งกองทหารเพื่อป้องกันตัวเอง ในวันที่ 4 สิงหาคม 1789 National Constituent Assembly ก็ได้ประกาศยกเลิกระบบศักดินา ซึ่งทำให้ประชาชนฝรั่งเศสทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน และในวันที่ 27 สิงหาคม ก็ได้มีการประกาศ Declaration of the Rights of Man and of the Citizen หรือคำประกาศสิทธิ์ของมนุษย์และประชาชน แต่นี่ก็ยังไม่ใช่รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนในวันที่ 5 ตุลาคม ผู้หญิงกว่าเจ็ดพันคน ก็ได้รวมตัวกันเดินประท้วงไปยังพระราชวังแวร์ซายเพื่อประท้วงความอดยาก โดยมีการลากปืนใหญ่และปืนเล็กไปด้วย ซึ่งกองทหารที่ปกป้อพระราชวังหมื่นกว่าคน ก็ได้พยายามที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในพระราชวัง แต่เหล่าผู้ประท้วงก็ยังพยายามบุกเข้าไปในพระราชวัง สุดท้ายกษัตริย์และราชวงศ์ก็ต้องเดินทางออกจากพระราชวังกลับไปอยู่ในกรุงปารีสภายใต้การคุ้มครองของ National Assembly

สองปีต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารีอังตัวเน็ตต์และราชวงศ์ที่เหลือ ซึ่งยังหวังว่าจะได้กลับสู่อำนาจ ได้หนีออกจากปารีสไปยัง Verennes โดยปลอมตัวเป็นสามัญชน แต่พวกเขาก็ถูกจับได้ และถูกส่งกลับมายังปารีส ซึงถึงแม้ว่าประชาชนจะเกลียดชังราชวงศ์มากแค่ไหน แต่  National Assembly ก็ยังอยากให้มีการปกครองระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มากกว่า ระบบสาธารณรัฐ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงได้รับการคุ้มครองจาก National Assembly อยู่ ในขณะเดียวกัน กลับมีแรงกดดันจากภายนอก โดยกษัตริย์ของปรัซเซีย (ส่วนหนึ่งของเยอรมันและโปแลนด์ในปัจจุบัน) ได้ประกาศว่า พระเจ้าหลุยส์จะต้องได้รับเกียรติ์ที่สมกับพระองค์ มิฉะนั้น จะบุกฝรั่งเศส ซึ่งแรงกดดันนี้ ทำให้การประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี 1791 ที่ประกาศว่าฝรั่งเศสเป็นรัฐที่ปกครองโดยระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญล้มเหลวลงในปีถัดมา และได้เปลี่ยนประเทศให้ปกครองแบบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Republic) ซึ่งเป็นการก่อกำเนิด First Republic  แต่ในช่วงหลายปีถัดมา ฝรั่งเศสเต็มไปด้วยสงคราม และ การปฎิวัติซ้อนปฎิวัติ จนในที่สุด พระเจ้าหลุยที่ 16 ก็ถูกประหารชีวิตโดยการตัดคอในวันที่ 21 มกราคม 1793 อันเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ดั้งเดิมในฝรั่งเศส

ถึงแม้ว่ากษัตริย์จะถูกตัดคอไปแล้ว แต่ความวุ่นวายในฝรั่งเศสก็ยังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งมีการประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1795 ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสมีการปกครองแบบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ และความวุ่นวายก็ค่อย ๆ สงบลงจนถึงปี 1799 การปฏิวัติฝรั่งเศสก็ถือว่าสิ้นสุดลง แต่สาธารณรัฐนี้ก็มีอายุอยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี 1804 นโปเลียน โปนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ก็ได้ประกาศ French Empire ขึ้นมาแทนที่ French Republic และประกาศตัวเองเป็น Emperor of the French ซึ่งทำให้รัฐบาลประชาชน (French Consulate) ของฝรั่งเศส ถูกยุบลง แต่แล้วนโปเลียนแพ้สงครามที่เวอเตอร์ลูในปี 1815 เขาก็สิ้นอำนาจลง และด้วยความช่วยเหลือจากราชวงศ์ต่าง ๆ ในยูโรป พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ซึ่งเป็นผู้สืบทอด House of Bourbon ก็ได้กลับมาครองอำนาจและเปลี่ยนฝรั่งเศสให้เป็น Kingdom of French อีกครั้ง อย่างไรก็ตามพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 เลือกที่จะให้ฝรั่งเศสปกครองกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นระบบกษัตริย์แต่ดั้งเดิม เพื่อลดแรงกดดันจากประชาชน และเมื่อเขาสิ้นชีวิตในปี 1824 พระเจ้าชาร์สที่ 10 ก้ได้ขึ้นครองราชแทน ซึ่งพระเจ้าชาร์สที่ 10 มีแนวคิดที่ต้องการจะฟื้นฟูระบบกษัตริย์แบบดั้งเดิม ซึ่งนำความไม่พอใจมายังประชาชน ในที่สุดในปี 1830 ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเรียกว่า July Revolution ซึ่งนำไปสู่การขึ้นครองราชของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ซึ่งเปลี่ยนประเทศจากรัฐบาลแบบอนุรักษ์นิยมที่นำโดยพระเจ้าชารส์ที่ 10 ไปสู่รัฐบาลแบบเสรีนิยมแทน ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะต่อต้านการขึ้นครองราชของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ เช่นการกบฏในเดือนมิถุนายน (June Rebellion) ในปี 1832 แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ก็ยังสามารถปกครองประเทศมาเรื่อย ๆ

 

La Liberté guidant le peuple — ภาพเขียนจากเหตุการณ์ July Revolution

 

แต่การปฏิวัติในฝรั่งเศสยังไม่สิ้นสุด ในปี 1848 ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง และการสิ้นสุดการปกครองแบบกษัตริย์เป็นครั้งที่สอง และพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ก็ได้เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้าย และนำไปสู่ French Second Republic แต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยม และ อนุรักษ์นิยมก็ยังมีอยู่ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็มีพลังขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี 1851 ก็เกิดรัฐประหารตัวเองขึ้น โดยประธานาธิบดี หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต เพื่อยกเลิก French National Assembly และได้เปลี่ยนประเทศไปสู่ French Empire อีกครั้ง รวมถึงได้รับการเลือกตั้งมาป็น Emperor of the French โดยประชาชนชาวฝรั่งเศส Second French Empire มีอายุยืนยาวเนื่องด้วยหลุยส์ นโปเลียนมีนโยบายที่ค่อนข้างผ่อนคลาย เช่น ให้เสรีภาพกับสื่อมวลชน ให้มีการเลือกตั้งถ้วนหน้า (Universal suffrage) เป็นต้น แต่ในช่วงปี 1860 ปรัสเซียเริ่มมีอำนาจมากขึ้น หลังจากเอาชนะออสเตรียในปี 1866 และกลายเป็นมหาอำนาจในยุโรป และนำความไม่สบายใจมาสู่ฝรั่งเศส และแล้วในปี 1870 รัฐบาลฝรั่งเศสก็ประกาศสงครามกับปรัสเซีย เพื่อหยุดการขยายอำนาจของปรัสเซียในยุโรป ซึ่งผลของการสู้รบนั้น ฝรั่งเศสจะเป็นฝ่ายแพ้เป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็ต้องประกาศยอมแพ้ในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งนำความโกรธแค้นมาสู่ประชาชนชาวฝรั่งเศส ที่ก่อการประท้วงและ ในที่สุด ก็มีการก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสขึ้นมา อันเป็นการสิ้นสุดของ Second French Empire และการก่อกำเนิดของ Third Republic ที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในวงวรรณกรรม หนังสือที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสที่สำคัญก็คือ Les Miserables หรือในชื่อไทยคือ เหยื่ออธรรม ที่ถูกเขียนในปี 1862 ในช่วงของ Second French Empire โดยเป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 1815 ไปจนถึง June Rebellion ในปี 1832 วิกเตอร์ อูโก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มีชีวิตอยู่ในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (เขาเกิดปี 1802 สามปีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสสิ้นสุด) ซึ่งเขาได้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งในช่วงที่วุ่นวายที่สุด มีการเปลี่ยนสลับไปสลับมาระหว่างระบบกษัตริย์ ระบบจักวรรดิ์ และ ระบบสาธารณรัฐ หลายครั้ง โดยตัวเขาเอง นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นรัฐบุรุษที่มีบทบาทสำคัญในช่วงของ First French Empire ยาวนานมาจนถึง Second French Empire ซึ่งเขาต่อต้านการปกครองของหลุยส์ นโปเลียน โดยการปะกาศตัวเองเป็นกบฏต่อฝรั่งเศส และลี้ภัยไปอยู่ที่บรัสเซลล์ และอังกฤษ ในช่วงนี้เขาได้เขียนเหยื่ออธรรมขึ้นมา ในปี 1870 หลังการเกิด Third Republic เขาถึงได้กลับประเทศ และได้รับการเลือกตั้งสู่ National Assembly และวุฒิสภาในเวลาต่อมา ในงานวันเกิดของเขาในปี 1881 ได้มีการจัดขบวนพาเหรดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาตร์ของฝรั่งเศส เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อูโก และในวันที่ 22 พฤษภาคม 1885 เขาก็ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 83 ปี มีคนมาร่วมงานศพของเขากว่า 2 ล้านคนในกรุงปารีส โดยเขาถูกฝังร่วมกับ Alexandre Dumas นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง

เหยื่ออธรรมเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของอูโก เป็นเรื่องราวของหลายชีวิตี่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสในช่วงน้น โดยเน้นที่ชีวิตฌอง วาลฌอง นักโทษหนีคดี โกเซ็ตต์ ลูกเลี้ยงของเขา และ ชาเวร์ นักสืบทีใล่ตามจับ ฉอง วาลฉอง เรื่องราวทั้งหมด เริ่มขึ้นในปี 1815 ในช่วงปลายของ First Empire ซึ่งประชาชนชาวฝรั่งเศสมีแต่ความยากจน อันเป็นผลจากสงครามที่นำโดยนโปเลียน เรื่องราวไล่ตามชีวิตของฌอง วาลฌอง และ โกเซ็ตลูกเลี้ยงของเขาไปจึนถึงปี 1832 ซึ่งเกิด June Rebellion ซึ่งโกเซ็ตได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เรื่องราวทั้งหมดมาขมวดลงในเดือนกรกฏาคม ปี 1832 ระหว่างการเผชิญหน้าระหว่างประชาชน ที่มีโกเซ็ตและคนรักของเธออยู่ด้วย และ รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่การพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาชน และฌอง วาลฌอง ถูกจับได้ระหว่างช่วยให้โกเซ็ตต์หนี ชาแวร์ซึ่งยังติดตาม ฌอง วาลฌองอยู่ก็ได้มาขอตัวเขาเพื่อไปลงโทษ แต่กลับได้รับความการช่วยชีวิตจากฌอง วาลฌอง สุดท้าย ด้วยมโนธรรมในใจชาแวร์จึงปล่อยฌอง วาลฌองไป เรื่องราวจบลงที่การฆ่าตัวตายของวาแชร์ เพระาเกิดความขัดแย้งในใจที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้สำเร็จ

 

โกเซ็ตต์

 

เหยื่ออธรรมนอกจากจะได้รับการยอมรับว่ามีสำนวนการเขียนที่น่าติดตาม ถึงแม้หนังสือจะหนามาก (แบ่งออกเป็นได้ทั้งหมดห้าเล่ม) และยังสะท้อนถึงสังคมฝรั่งเศสในยุคนั้น ด้วยว่าอูโกผู้เขียน มีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยตรง จึงสามารถถ่ายทอดออกมาในแง่มุมของเขาได้อย่างแหลมคม ผ่านคำพูดของตัวละครต่าง ๆ นอกจากนั้น นวนิยายเรื่องนี้ ยังตั้งคำถามถึงระบบกฏหมาย คุณงามความดี  ศาสนา หรือแม้แต่ความยุติธรรม ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 19 สำหรับในประเทศไทย Les Miserables ได้รับการแปลภาษาไทยครั้งแรกในช่วงปีพศ. 2503 โดยจูเลียต นามปากกาของคุณชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ แต่เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษ และแปลได้เพีียงสองเล่มจากห้าเล่มและเป็นการแปลที่ไม่สมบูรณ์ ในปีพศ. 2545 ก็มีการแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้ง เป็นการแปลครบทั้งห้าเล่ม แต่เป็นการแปลแบบย่อจากแต่ละเล่ม ซึ่งในการแปลครั้งนั้น ใช้ชื่อว่า ตรวนชีวิต และแปลโดย สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ และคณะ ในปีพศ. 2553 เกือบ 150 ปี หลังจาก Les Misérables ถูกเขียนขึ้นมา ก็ได้มีการแปลหนังสือเล่มนี้จากภาษาฝรังเศสโดยตรงเป็นภาษาไทย ครบทั้งห้าเล่ม โดยคุณวิภาดา กิตติโกวิท ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ซึ่งในฉบับนี้ ยังใช้ชื่อ เหยื่ออธรรม แต่มีการเติมคำว่า ฉบับสมบูรณ์ต่อท้าย และเป็นการตีพิมพ์เป็นปกแข็งบรรจุกล่องอย่างสวยงาม ผู้ที่สนใจ สามารถหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไปครับ   ภาพประกอบจาก Wikipedia คลิกที่รูปเพื่อดูบทความต้นฉบับ

3 Comments

  1. leenoi พูดว่า:

    ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆ อ่านแล้วทำให้อยากหาหนังสือที่ว่านี้ มาอ่านจริงๆ

  2. […] เมื่อออร์เวลล์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ของเขา มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า เขาต้องการเล่าเรื่องของการเมืองโซเวียต ในยุคสมัยหลังพระเจ้าซาร์ บางคนก็บอกว่านี่มันการเมืองของฝรั่งเศสหลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินถูกตัดหัวโดยกิโยตินชัด ๆ อีกหลายคนก็บอกว่า เหมือนการเมืองอังกฤษในยุคของคร์อมเวลล์ นั่นคือในงานเขียนเรื่องนี้ของออร์เวลล์ได้เล่าถึงพื้นฐานการเมืองของสังคมมนุษย์ ที่มีตัวละครต่าง ๆ เล่นบทซ้ำ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของประเทศไหน แล้วใช้สัตว์ต่าง ๆ แทนตัวละครเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะหยิบยกการเมืองในประเทศไหนขึ้นมาดู ก็จะหาช่วงที่มีลักษณะเหมือนฟาร์มสัตว์ในนิยายเรื่องนี้ได้เสมอ […]

  3. […] เมื่อออร์เวลล์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ของเขา มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า เขาต้องการเล่าเรื่องของการเมืองโซเวียต ในยุคสมัยหลังพระเจ้าซาร์ บางคนก็บอกว่านี่มันการเมืองของฝรั่งเศสหลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินถูกตัดหัวโดยกิโยตินชัด ๆ อีกหลายคนก็บอกว่า เหมือนการเมืองอังกฤษในยุคของคร์อมเวลล์ นั่นคือในงานเขียนเรื่องนี้ของออร์เวลล์ได้เล่าถึงพื้นฐานการเมืองของสังคมมนุษย์ ที่มีตัวละครต่าง ๆ เล่นบทซ้ำ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของประเทศไหน แล้วใช้สัตว์ต่าง ๆ แทนตัวละครเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะหยิบยกการเมืองในประเทศไหนขึ้นมาดู ก็จะหาช่วงที่มีลักษณะเหมือนฟาร์มสัตว์ในนิยายเรื่องนี้ได้เสมอ […]

Leave a Reply

 

แนะนำหนังสือ

The Memory Keeper’s Daughter เป็นผลงานชิ้นแรก และเป็นผลงานสร้างชื่อให้แก่ Kim Edwards ชนิดถล่มทลายไปเลยค่ะ

คนที่โกหกหลอกลวงไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือว่าเอาตัวรอดนั้น จะต้องแบกความรู้สึกผิดเอาไว้ตลอด
ทันทีที่เริ่มโกหก ก็เหมือนเริ่มปลูกเมล็ดแห่งความลับที่จะเติบโตเป็นต้นลงทัณท์ตามหลอกหลอนคนปลูกไปตลอด

เรื่องทั้งหมดในหมวด

เทคนิคและเคล็ดลับ

ก่อนอื่น ต้องบอกว่า การ์ตูนในที่นี้เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่แปลเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ใครที่อยากอ่านการ์ตูนภาษาไทย ก็ข้ามไปได้เลยครับ 🙂

นักอ่านการ์ตูนหลาย ๆ คน คงรู้จักเว็บไซท์ onemanga.com ที่เป็นเว็บรวมการ์ตูนที่แปลโดยอาสาสมัคร ซึ่งก็มีการ์ตูนดัง ๆ เกือบจะทุกเรื่องเลยทีเดียว

เรื่องทั้งหมดในหมวด