รีวิว Sony Reader Touch Edition

เขียนโดย: pruet, กันยายน 7th, 2009

ในหัวข้อ: รีวิว

แทก: , ,

14 ความเห็น



ท่านสามารถนำบทความใน WeRead ไปเผยแพร่ เผยแพร่ ดัดแปลง ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ต้องทำลิงค์กลับมาที่บทความต้นฉบับเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติมที่คำประกาศสิทธิ์


หลังจากมีข่าวลือมาก่อนหน้านี้ และโซนี (Sony) ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ วันนี้เราก็ได้สั่ง Touch Edition (PRS-600)  มารีวิวให้อ่านกันนะครับ

ความรู้สึกแรกที่เริ่มแกะกล่องคือ กล่องหรูขึ้นจากรุ่น PRS-505 ของเดิม การออกแบบจะคล้าย ๆ กับกล่อง iPod Touch นะครับ คือแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนจะวางเครื่องอ่านอีบุ๊คส่วนด้านล่างจะเป็นอุปกรณ์เสริม ด้านในกล่องมีเครื่องอ่านอีบุ๊คในซอง สาย USB สำหรับชาร์จและโอนข้อมูล ที่ใส่อีบุ๊คแบบผ้า คู่มือการใช้งานเล่มบาง ๆ และเอกสารการรับประกัน สำหรับ Touch Edition นี้ ไม่มีฝาปิดแบบหนังมาให้แบบ PRS-505 นะครับ แต่ให้มาเป็นซองผ้า ซึ่งให้ความรู้สึกไม่น่าใช้มาก ๆ -_-

กล่อง Touch Edition

กล่อง Touch Edition

สำหรับรายละเอียดทางเทคนิค ขอให้ดูที่ข่าวเก่าประกอบนะครับ (1, 2) รายละเอียดคร่าว ๆ ก็คือ เป็นเครื่องอ่านอีบุ๊คขนาดหน้าจอ 6 นิ้ว โดยเป็นจอสัมผัส ที่ใช้ได้ทั้ง Stylus (มีมาให้) และนิ้ว ในการควบคุมการใช้งาน เครื่องอ่านสนับสนุนแฟ้มอีบุ๊คในแบบ BBeB, ePub, PDF, RTF และ txt โดยรองรับ DRM ของ Adobe ด้วย สำหรับการชาร์จแบตเตอรีหนึ่งครั้ง จะอ่านได้ 7,500 หน้าโดยประมาณ หรือว่าทำงานในสถานะพร้อมใช้งานได้นานสองอาทิตย์ ด้านในมีหน่วยความจำเก็บหนังสือได้ 380M และสามารถขยายเพิ่มโดยใช้เม็มโมรีสติก (Memory Stick) หรือว่า SD card ก็ได้

เทียบขนาด PRS-505 และ Touch Edition (PRS-600)

เทียบขนาด PRS-505 และ Touch Edition (PRS-600)

เมื่อเทียบขนาดกับ  PRS-505 (ซ้ายมือ) จะเห็นว่า  Touch Edition (ขวามือ) มีขนาดเท่า ๆ กับ  PRS-505 นะครับ ส่วนน้ำหนักนั้น ก็จะหนักกว่านิดหน่อย (2-3 ขีด) พอรู้สึกได้ แต่ก็ไม่หนักมาก เช่นเดียวกับ PRS-505 เวลาถือ Touch Edition ในมือ จะไม่รู้สึกเมื่อยมือถ้าอ่านไปนาน ๆ สิ่งที่ต่างกันที่จะเห็นได้ชัดระหว่างเครื่องอ่านอีบุ๊คสองรุ่นนี้ก็คือ จำนวนปุ่มกดครับ PRS-505 นั้นไม่ได้ใช้หน้าจอสัมผัส การควบคุมการทำงานจึงใช้ปุ่มกดเป็นหลัก ในขณะที่ Touch Edition ใช้หน้าจอแบบสัมผัสอยู่แล้ว ก็เลยมีปุ่มแค่เพียงห้าปุ่ม เรียงอยู่ด้านล่างจอครับ คือปุ่มเลื่อนหน้าเวลาถือเครื่องอ่านด้วยมือซ้าย ปุ่มกลับหน้าเมนูหลัก ปุ่มเลือกขนาดฟอนต์ และปุ่มเรียก Option สำหรับหน้าจอนั้น ๆ

ภาพถ่ายด้านล่างของ PRS-505 และ Touch Edition

ภาพถ่ายด้านล่างของ PRS-505 และ Touch Edition

สำหรับความหนาของ Touch Edition (ขวามือ) ก็พอ ๆ กับ PRS-505 (ซ้ายมือ) คือพอ ๆ กับดินสอ HB และจำนวนพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ก็เหมือนกันด้วย โดยเรียงจากซ้ายไปขวาคือ รูปสำหรับเสียบกับฝาปิดหนัง (ใช้ของ PRS-505 ได้ครับ) รูสำหรับรีเซ็ตเครื่อง ช่องเสียบอแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบเตอรี (อแปเตอร์ไม่มีมาให้) ช่องเสียบสำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แบบ Mini-USB (มีสายมาให้) ช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน และปุ่มสำหรับเร่งลดความดัง

ส่วนด้านบน ก็เหมือนกับ PRS-505 นะครับ คือมีสวิทช์สำหรับปิดเปิดเครื่อง ช่องเสียบ Memory Stick  และ SDHC card

หน้าจอของ PRS-505 และ Touch Edition

หน้าจอของ PRS-505 และ Touch Edition

เมื่อเทียบหน้าจอระหว่าง PRS-505(ซ้ายมือ) กับ Touch Edition (ขวามือ) จะเห็นความแตกต่างสองอย่างที่ชัดเจนมากนะครับคือโครงสร้างเมนูหลักที่ต่างกัน และที่สำคัญคือความชัดของการแสดงภาพครับ สำหรับ PRS-505 นั้น การควบคุมการใช้งานจะใช้ปุ่มกดเป็นหลัก เมนูก็เลยต้องออกแบบมาแบบนั้นด้วย โดยการเลือกเมนู จะใช้ปุ่มตัวเลข 1-10 ที่เรียงอยู่ด้านขวามือ หรือว่าปุ่มเลือนตำแหน่งด้านล่างนะครับ ซึ่งการใช้งานก็สะดวกดี แต่สำหรับ Touch Edition เมนูจะเหมาะกับการเอานิ้วจิ้มเลือกโดยตรงนะครับ ซึ่งหน้าจอของ Touch Edition ก็ไม่สะสมรอยนิ้วมือมากนัก คาดว่าคงต้องเช็ดสักเดือนละครั้งก็น่าจะพอ

ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง ที่เป็นข้อเสียหลักของ Touch Edition เลยก็คือความคมชัดของการแสดงภาพครับ ภาพที่แสดงบน  Touch Edition จะไม่คมเท่ากับใน  PRS-505 ครับ และยังมีความแตกต่างระหว่างสีขาวและดำ (Contrast) น้อยกว่า PRS-505 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัญหานี้ก็เกิดจากแผ่นกระจกสำหรับรับการสัมผัสที่ถูกซ้อนไปบนหน้าจอแสดงผลนั้นเอง สำหรับอุปกรณ์พวก PDA ปัญหานี้จะไม่ใหญ่มาก เพราะว่าจอภาพมีหลอดไฟอยู่ด้านหลัง เวลาภาพต้องแสดงผ่านแผ่นรับสัมผัส ก็ไม่เสียความคมชัดมากนัก แต่สำหรับจอแสดงภาพแบบ E-Ink นั้น ไม่มีหลอดไฟอยู่หลังจอภาพ แต่ใช้แหล่งกำเนิดแสงภายนอกตกกระทบกับจอภาพแล้วสะท้อนเข้าตาเราอีกที นั่นคือ แผ่นรับสัมผัส ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียแสดงถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่สมัย PRS-700 ซึ่งเป็นเครื่องอ่านอีบุ๊คจอสัมผัสตัวแรกของโซนีแล้ว และเหมือนว่าจะยังแก้ไขได้ไม่ 100% นะครับ และนอกจากจะไม่คมชัดแล้ว หน้าจอของ Touch Edition ยังสะท้อนแสงมากกว่า PRS-505 ค่อนข้างมาก ทำให้เวลาอ่าน ต้องคอยหามุมที่ไม่มีแสงสะท้อน ถึงจะอ่านได้โดยไม่ระคายตามาก

สำหรับในเรื่องความเร็วในการเปลี่ยนหน้าจอแสดงผล (Refresh rate) ของ Touch Edition นี่เร็วกว่า PRS-505 แบบรู้สึกได้ครับ เนื่องจากใช้หน่วยประมวลผลที่เร็วขึ้น และนอกจากนั้นทีมวิศวกรโซนียังทำในสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับบนหน้าจอแบบ E-Ink ให้เป็นไปได้อีกด้วย เดี๋ยวจะเอาไว้พูดถึงตอนสุดท้ายครับ

ระบบการค้นหาความหมายของคำ

ระบบการค้นหาความหมายของคำ

จุดขายอีกประการหนึ่งของ Touch Edition นอกจากการควบคุมโดยการใช้นิ้ว ( เช่นลากนิ้วผ่านหน้าจอจากซ้ายไปขวา ก็จะเป็นการพลิกไปหน้าถัดไป) ก็คือมีพจนานุกรมของ Oxford  แถมมามาให้ในตัวเครื่องเลย โดยการค้นหาคำก็ทำได้ไม่ยาก เพียงใช้นิ้วหรือว่า Stylus เคาะที่คำที่ต้องการค้นหา (เช่นคำว่า Sunday ในรูป) เครื่องอ่านก็จะแสดงความหมายที่ด้านล่างของจอ พร้อมกับคำอ่านให้ดู และถ้าเราต้องการจะเน้นข้อความหรือว่าเขียนบันทึกย่อที่ตำแหน่งนั้น ก็เอานิ้วหรือว่า Stylus เคาะที่เครื่องหมายปากกาด้านขวามือสุดได้เลย แต่ถ้าต้องการว่าคำนี้มีอยู่ในที่อื่น ๆ ในอีบุ๊คนี้อีกหรือไม่ ก็เคาะที่เครื่องหมายแว่นขยายครับ นั่นคือ Touch Edition สนับสนุนการค้นหาคำในอีบุ๊คแล้วนั้นเอง (ถ้าอยากค้นหาคำอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในหน้าที่กำลังอ่าน ก็กดปุ่ม  OPTIONS ก็จะมีเมนูให้เลือกค้นหาได้ครับ) ส่วนปุ่มสุดท้ายก็คือแสดงหน้าจอพจนานุกมแบบเต็ม ๆ นั่นเอง

พจนานุกรม New Oxford American English

พจนานุกรม New Oxford American English

พจนานุกรมที่แถมมาก็คือ New Oxford American English  ไม่รู้ว่าถ้าเอาไปขายที่ตลาดอื่น โซนีจะแถมพจนานุกรมตัวนี้อยู่หรือเปล่า สำหรับคำอธิบายและจำนวนคำก็มากพอใช้งานได้ มีการยกตัวอย่างและคำอ่านให้ดูด้วย ถ้าเราอยากค้นหาคำศัพท์เอง ก็กดเลือกพจนานุกรมได้จากปุ่ม OPTIONS หรือว่าปุ่มรูปคีย์บอร์ดที่ตรงขวามือล่างในรูปได้เลย

คีย์บอร์ดบนหน้าจอสำหรับป้อนคำ

คีย์บอร์ดบนหน้าจอสำหรับป้อนคำ

สำหรับคีย์บอร์ดบนหน้าจอนั้น ก็ออกแบบมาสำหรับใช้นิ้วกดได้เลยครับ คนทั่วไปก็น่าจะกดได้อย่างไม่มีปัญหา การตอบสนองก็ค่อนข้างไวเลยทีเดียว ไม่มีแบบกดแล้วรออีก 3 วินาทีถึงจะแสดงตัวอักษรที่กดขึ้นมา นี่เป็นความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างเครื่องอ่านอีบุ๊คของโซนีกับของ อมาซอน นั่นคือเครื่องอ่านอีบุ๊คของโซนีจะสามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงผลในบางส่วนของจอได้ แต่ของอมาซอนจะต้องเปลี่ยนทั้งจอซึ่งทำให้แสดงผลได้ช้า

ความเร็วในการค้นหาคำศัพท์ก็เรียกว่าเร็วมากครับ โดยเครื่องอ่านจะแสดงคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยคำที่เรากำลังป้อนได้เลย เรียกว่าสามารถใช้ Touch Edition ตัวนี้เป็นพจนานุกรมเคลื่อนที่ได้เลย (แต่มันพูดอธิบายคำศัพท์ไม่ได้นะครับ)

สำหรับคีย์บอร์ดนั้น นอกจากจะใช้ในการค้นหาคำ และค้นหาศัพท์ในพจนานุกรมแล้ว เรายังสามารถใช้จดบันทึกช่วยจำสั้น ๆ ได้ โดยเลือกได้จากเมนูหลักในหน้าแรก (Text Memo) และนอกจากจะใช้คีย์บอร์ดในการเขียนบันทึกแล้ว เรายังสามาถใช้ Stylus ในการเขียนข้อความลงบนหน้าจอตรง ๆ ได้ด้วย โดยใช้เมนู Handwriting ที่อยู่ข้าง ๆ นั้นเอง

ตัวอย่างการเขียนลงบนหน้าจอ

ตัวอย่างการเขียนลงบนหน้าจอ

ความสามารถนี้เองที่ผมบอกว่าวิศวกรของโซนีทำในสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะปกติ E-Ink จะต้องความเร็วในการแสดงผลช้ามาก แต่วิศวกรของโซนีก็สามารถพัฒนาเครื่องอ่านอีบุ๊ครุ่นนี้ให้เราสามารถเขียนลงบนหน้าจอได้โดยตรง โดยไม่รู้สึกว่าเครื่องทำงานไม่ทัน นอกจากเราจะใช้ Stylus ในการเขียนบันทึกย่อแล้ว เรายังสามารถใช้ Stylus ในการเขียนบันทึกลงไปบนหนังสืออีบุ๊คที่เรากำลังอ่านอยู่ได้อีกด้วย เหมือนกับเราเอาดินสอเขียนลงไปบนหนังสือจริง ๆ นะครับ ซึ่งข้อความ หรือรูปภาพต่าง ๆ ที่เราเขียนไป ก็จะเก็บไว้ในอีบุ๊คนั้น และสามารถอ่านได้บนโปรแกรมจัดการอีบุ๊คของโซนีบนคอมพิวเตอร์ได้

ตัวอย่างการเขียนบันทึกลงไปบนอีบุ๊ค

ตัวอย่างการเขียนบันทึกลงไปบนอีบุ๊ค

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความมสามารถนี้ไม่ใช่ระบบการรับรู้ลายมือ (Handwriting Recognition) ดังนั้นเครื่องอ่านไม่สามารถแปลงลายมือเราเป็นตัวอักษรได้นะครับ

สุดท้ายนี้ Touch Edition ก็เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจาก PRS-700 แต่ก็ยังแก้ปัญหาใน PRS-700 ได้ไม่หมด แต่ด้วยระดับราคาที่ต่ำมาก ($299 เท่ากับ Kindle 2) ก็น่าจะทำให้สู้กับเครื่องอ่านอีบุ๊คเจ้าอื่น ๆ ในแง่การมีหน้าจอสัมผัสได้นะครับ แต่นักอ่านอีบุ๊คแท้ ๆ อาจจะไม่ชอบใจหน้าจอของ Touch Edition มากนัก

ชอบ:

  1. การออกแบบ ขนาด น้ำหนัก เหมาะกับการพกพาและการอ่าน
  2. มีพจนานุกรมในตัว ที่มีจำนวนศัพท์มาก คำอธิบายที่ชัดเจน และค้นหาคำได้เร็ว
  3. สามารถพิมพ์หรือเขียนบันทึกลงไปบนหนังสือโดยตรงได้
  4. สามารถขยายหน่วยความจำภายนอกได้ และสนับสนุนหน่วยความจำแบบ SDHC (De-facto standard ในเรื่องของการ์ดหน่วยคำจำในปัจจุบัน)
  5. ระบบควบคุมการใช้งานที่ใช้ได้ง่าย ตรงไปตรงมา และออกแบบมาให้ควบคุมการใช้งานโดยใช้นิ้วได้โดยตรง
  6. หน้าจอแสดงผลที่เปลี่ยนการแสดงผลได้เร็วมาก โดยเฉพาะ การพลิกหน้า

ไม่ชอบ:

  1. หน้าจอแสดงผล ที่มีความชัดเจนน้อยกว่า PRS-505 อย่างเห็นได้ชัดและสะท้อนแสงมากกว่า

ไม่สนใจ:

  1. มีเครื่องเล่น mp3 และ โปรแกรมแสดงรูป(แบบขาวดำ) ที่ใช้งานได้จริง และสามารถฟังเพลงไปพร้อม ๆ กับอ่านหนังสือได้
  2. ไม่มีระบบ Wireless สำหรับติดต่อกับร้านหนังสือ

14 Comments

  1. TaTSu พูดว่า:

    แล้วไม่ทราบว่าแสดงผลภาษาไทยได้ไหมครับ

    • pruet พูดว่า:

      ได้ครับ ถ้าอีบุ๊คนั้นเป็นแบบ PDF และฝังฟอนท์ (Embedded font) ภาษาไทยลงไปด้วย อย่างเช่น อีบุ๊คทุกเล่มบนเว็บนี้ จะอ่านได้หมดครับ เพราะว่าฝังฟอนท์ให้แล้ว มีรูปตัวอย่างให้ดูครับ http://twitpic.com/bb4ec

  2. Daffodil พูดว่า:

    ถ้าเรามีfileหนังสือการ์ตูน ที่ทำเป็น pdfแล้ว อ่านด้วยsony prs600
    หากอ่านไม่ชัด เพราะตัวหนังสือในช่องการ์ตูนเล็กไป จะzoomขยายได้ไหมครับ

  3. pruet พูดว่า:

    ทำได้ครับ ลองดูตัวอย่างเป็นวิดีโอจากที่นี่นะครับ http://www.youtube.com/watch?v=oKpl4wiG-Bs

    การ zoom มันจะมีสองแบบคือ การเปลี่ยนขนาด font และการ zoom แบบ zoom in/out ซึ่ง PRS-600 จะสนับสนุนทั้งสองแบบครับ (เครื่องอ่านอีบุ๊คทั่วไปจะสนับสนุนแค่การเปลี่ยนขนาด font)

  4. TaTSu พูดว่า:

    ตอนนี้ได้ PRS600มาทดลองแล้วครับ กำลังหาวิธีในการทำ menu Thai เหมือนที่มีคนเคยทำกับ PRS300 ก็จะดีไม่น้อยเลยครับ

  5. pruet พูดว่า:

    คุณ TaTSu ถ้าทำได้ วานช่วยเขียน tutorial มาลงด้วยนะครับ น่าสนใจมาก ๆ 🙂

  6. mag พูดว่า:

    เล่น PRS-600 อยู่เหมือนกันครับ

    ตอนนี้ Russian เค้าแฮกค์ให้เป็นภาษาเค้าได้แล้วครับ และมี app เสริมเข้าไปด้วย เช่น นาฬิกา ,sudoku

    ref:
    http://translate.google.com/translate?js=y&prev=_t&hl=en&ie=UTF-8&layout=1&eotf=1&u=http%3A%2F%2Fwww.the-ebook.org%2Fforum%2Fviewtopic.php%3Ft%3D12053&sl=ru&tl=en

    ตอนนี้ผมก็กำลังหาทางใส่ฟอนต์ภาษาไทยเข้าไปเหมือนกันครับ

    ปล. ตอนนี้ PRS300 แปลงเมนูไทยได้แล้วหรอครับ ถ้าได้แล้วรบกวนขอลิงค์ได้ไหมครับ อยากศึกษาเพิ่มเติมครับ

  7. mag พูดว่า:

    ** อัพเดทเพิ่มเติมครับ

    ผมทำให้เจ้า PRS 600 แสดงชื่อไฟล์ภาษาไทยได้แล้วครับ แต่ตัวอักษรในไฟล์ (.txt) ภาษาไทยยังเป็นเหลี่ยมอยู่ครับ

    http://www.temppic.com/img.php?09-12-2009:1260342464_0.31128500.jpg

  8. Kowit พูดว่า:

    สนใจรุ่นนี้มากครับ ไม่ทราบว่าเมืองไทยมีขายรึเปล่า รึว่าต้องสั่งจากเมืองนอกอย่างเดียว

  9. sawat พูดว่า:

    ขออนุญาตนะครับ พอดีซื้อรุ่นนี้ (sony PRS-600) ติดมือกลับมาจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้เลย อยากขายพร้อม option cover แบบสมุดหนังนะครับ ขาย 8,000 บาท โทร 0817204037

  10. Santi พูดว่า:

    ขาย NOOK e-book reader ของ Barns&Noble , SONY e-book reader และ Aluratek e-book reader ครับ
    สนใจติดต่อ สันติ M.08 9766 7210 ; santi.mastergroup@gmail.com

  11. popeye พูดว่า:

    เพิ่งได้มาครับจากอีเบย์ รวมค่าส่งแล้ว200เหรียญ ประมาณไม่ถึง7000บาท ไม่เสียภาษีอีกต่างหาก.. จังหวะดีมาก เพราะปกติถูกๆรวมค่าส่งก้จะอยู่ที่250เหรียญ

    ใช้แล้วชอบมากครับ ชอบการ์ตูนด้วย ไปโหลดซึบาสะมารื้อฟื้นความทรงจำสมัยเด็กๆ แจ๋มเลย ฟรีด้วย ถ้าซื้อภาคนึงก็เป็นพันแล้ว

Leave a Reply to Santi

 

แนะนำหนังสือ

The Memory Keeper’s Daughter เป็นผลงานชิ้นแรก และเป็นผลงานสร้างชื่อให้แก่ Kim Edwards ชนิดถล่มทลายไปเลยค่ะ

คนที่โกหกหลอกลวงไม่ว่าจะด้วยความหวังดีหรือว่าเอาตัวรอดนั้น จะต้องแบกความรู้สึกผิดเอาไว้ตลอด
ทันทีที่เริ่มโกหก ก็เหมือนเริ่มปลูกเมล็ดแห่งความลับที่จะเติบโตเป็นต้นลงทัณท์ตามหลอกหลอนคนปลูกไปตลอด

เรื่องทั้งหมดในหมวด

เทคนิคและเคล็ดลับ

ก่อนอื่น ต้องบอกว่า การ์ตูนในที่นี้เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่แปลเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ใครที่อยากอ่านการ์ตูนภาษาไทย ก็ข้ามไปได้เลยครับ 🙂

นักอ่านการ์ตูนหลาย ๆ คน คงรู้จักเว็บไซท์ onemanga.com ที่เป็นเว็บรวมการ์ตูนที่แปลโดยอาสาสมัคร ซึ่งก็มีการ์ตูนดัง ๆ เกือบจะทุกเรื่องเลยทีเดียว

เรื่องทั้งหมดในหมวด